รับมือข่าวสารอย่างไรในสถานการณ์ Covid-19

วันที่เผยแพร่ : 24 เม.ย. 2563 15:48 น.

วันที่เแก้ไข : 23 มี.ค. 2567 17:55 น.


สิ่งที่ต้องระวังในช่วงนี้ นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว การแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง หรือข่าวลวงนั้นก็น่ากลัวไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังในการรับหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อนอันจะนำไปสู่ปัญหา หรือผลกระทบบางอย่างต่อสังคมในวงกว้าง

สถานการณ์ของโรคระบาดที่แพร่กระจายไปพร้อมกับข้อมูลข่าวสารในตอนนี้ คือ การมีข้อมูลจำนวนมาก และแข่งกันทำเวลาในการเผยแพร่ จนทำให้ขาดการตรวจสอบความถูกต้อง น่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆ นอกจากนี้การรับข้อมูลในโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทำให้การรับข้อมูลของเราแคบลง เพราะระบบคัดกรองของเฟซบุ๊กจะคัดกรองเฉพาะเนื้อหา หรือข้อมูลที่เราให้ความสนใจหรืออยากได้ยิน ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำเสนอโดยสอดแทรกความคิดเห็นมากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริง

ข้อมูลที่อาจสร้างปัญหาในช่วงนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ระบาดรุนแรง และมีผลถึงชีวิต ทำให้ทุกคนต้องการรู้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการรอดชีวิต ทุกหัวข้อจึงใหม่ น่าสนใจ และดึงดูดใจได้ไม่ยาก ซึ่งมีที่มาจากแหล่งสำคัญ คือ

1.สื่อทุกระดับ ทั้งสื่อเดิม สื่อหลัก สื่อรอง

2.ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งที่เป็นแพทย์ และไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในวงการด้านอื่นๆ

3.คนขายของ ทำให้คนเชื่อถือ และสั่งซื้อมาบริโภค

4.ข่าวลวงที่ถูกส่งต่อข้ามชาติ

5.หน่วยงานของภาครัฐ ทำงานไม่สอดคล้องกัน ไม่มีการปรึกษากันก่อนนำเสนอข้อมูลออกมา ทำให้เกิดความสับสนต่อผู้รับสาร

6.อุบัติเหตุทางการสื่อสารที่ขาดความครบถ้วน

7.คนที่ตั้งใจสร้างข่าวลวง เพื่อสร้างความปั่นป่วนในสังคม

8.การส่งข้อมูลต่อกันของประชาชนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1.ข้อมูลที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เช่น พบผู้ป่วยที่ใด จะมีประกาศปิดเมือง สถานที่เสี่ยง ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดการตอบสนองที่มากหรือน้อยจนเกินไป

2.ข้อมูลที่ทำให้เกิดความสำคัญผิด เช่น ไวรัสแพร่กระจายผ่านอากาศ สมุนไพรชนิดนี้รักษาหรือป้องกันโควิดได้ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวิธีการดูแลสุขภาพ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

3.ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเครียดหรือความสับสน เช่น ข้อมูลจากภาครัฐเชื่อถือไม่ได้ มีการปิดข่าว ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ความหวาดกลัว มองข้ามการป้องกันตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ เราทุกคนต้องตระหนักแต่ไม่ตระหนก ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ และทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศชาติผ่านพ้นช่วงเวลาแห่ง ความยากลำบากนี้ไปได้ และหนึ่งในวิธีที่จะช่วยเหลือประเทศชาติได้นอกจากการดูแลตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำ ของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขแล้ว การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องก่อนทำการเผยแพร่หรือส่งต่อก็เป็นการช่วย ลดปัญหาความสับสนวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้มากทีเดียว

ที่มา : www.thaihealth.com



ฝ่ายประชาสัมพันธ์ Student Care
ยึดมั่นธรรมาภิบาล ทำงานเพื่อการศึกษาไทย....


21 ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 7 ถ.ประเสริฐมนูกิจ 29 ต.จรเข้บัว อ.ลาดพร้าว จ.กรุงเทพมหานคร 10230
โทร 0808086001
แฟ็กซ์ 029435477
เว็บไซต์ http://www.student.co.th

25
Hide
Show
ติดต่อเราที่นี่